วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Leonardo da Vinci

    รวมประวัติ Leonardo da Vinci         



Let no man who is not a Mathematician read the elements of my work.

เลโอนาร์โด ดาวินชี มีชื่อเต็มว่า เลโอนาร์โด ดี เซร์ ปีเอโร ดาวินชี (นายสิงห์ บุตรปีเอโร ณ (เมือง)วินชี)
เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1452  ช่วงกลางยุคเรอเนซองซ์พอดิบพอดี
เขาประกาศตนอย่างเท่ตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่า “ข้า ลีโอนาร์โด สักวันจะรู้ศาสตร์และศิลป์ทั้งปวงซึ่งจะไขปริศนาจักรวาล”


เลโอนาร์โดหัดวาดภาพเองตั้งแต่เด็ก  ต่อมา  เมื่ออายุได้ราว 14-15 ปี  คุณพ่อเกิดเห็นแวว  เลยส่งผลงานไปให้เพื่อนศิลปินชื่อ อันเดรอา เดล เวร์รอกชีโอ (Andrea del Verrocchio) ดู  จากนั้น  เลโอนาร์โดก็ได้เข้าฝึกงานในโรงศิลปะของศิลปินท่านนี้...ซึ่งก็ไม่ใช่ระดับกระจอก เพราะเป็นโรงศิลปะระดับท็อปทูของกรุงฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญในยุคนั้น  ศิลปินในค่ายก็คุณภาพคับแก้ว เช่น ศิลปินรุ่นพี่อย่าง ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) ผู้เขียนภาพ “The Birth of Venus”
The Birth of Venus
(The Birth of Venus)

เมื่อเลโอนาร์โดอายุได้ 20 ปี  เวร์รอกชีโอได้ให้เขาช่วยเขียนวิวฉากหลังสุดและเทวดา ในภาพ “The Baptism of Christ” เล่ากันว่า...เมื่อเวร์รอกชีโอได้เห็นฝีมือของศิษย์  ถึงกับลั่นวาจาเลิกจับพู่กัน
The Baptism of Christ
(The Baptism of Christ)
ดูเหมือนว่า...หนุ่มเลโอนาร์โดจะเก่งไปเสียในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาจับ  ทั้งศิลปะ  ดนตรี  กีฬา  เสียอย่างเดียว  อาจเพราะเขาเป็นคนอยากรู้อยากเห็นไปเสียทุกเรื่อง  มีไอเดียใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาตลอด...ก็เลย...ทำอะไรต่อเนื่องไม่ค่อยจะรอด

ตลอดชีวิตของเลโอนาร์โด......เขาเขียนหนังสือไม่เคยเสร็จเลยแม้แต่เล่มเดียว  และเขียนภาพเสร็จเพียงสิบกว่าภาพเท่านั้น 

เลโอนาร์โดเชื่อในพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าในธรรมชาติ  แม่แห่งสรรพสิ่ง (Mother of Nature)
เขามีความคิดพ้องกับอริสโตเติล  แต่ไม่ทั้งหมด  และได้แนวคิดมากมายจากกระแสมนุษยนิยม  ขณะเดียวกันก็คิดต่างมากมายเช่นกัน  นักปราชญ์โบราณอย่าง อาร์คีมีดิส จุดประกายความคิดของเลโอนาร์โดเป็นอย่างมาก  และเป็นแรงผลักดันให้เขาพยายามเรียนภาษาละติน  แต่เขาก็ไม่เคยทนเรียนได้สำเร็จ  ความไม่รู้ภาษาละตินจึงกลายเป็นปมด้อยเล็ก ๆ ของเขา

แต่เราอยากจะบอกว่า...ไม่ใช่แค่แนวคิดของเขาเท่านั้นที่ค่อนข้างแหวกแนวจากคนในยุคเดียวกัน  สไตล์การแต่งตัวก็แหวกด้วย
ในขณะที่ผู้ชายสมัยนั้นเขาสวมชุดยาว ๆ สีขรึมๆ กัน  หนุ่มเลโอนาร์โดกลับใส่ชุดสีกุหลาบชมพูอมส้ม...สั้นแค่เข่า...

(รูปหล่อบรอนซ์ "David"ฝีมือเวร์รอกชีโอนี้ เชื่อว่า เลโอนาร์โด ดาวินชี เป็นนายแบบ)
เมื่ออายุได้ 24 ปี  เลโอนาร์โด ดาวินชี ถูกฟ้องถึงสองครั้งในข้อหามีเพศสัมพันธ์กับนายแบบอายุ 17 ปี ชื่อ จาโกโป ซาลตาเรลลี (Jacopo Saltarelli)  เลโอนาร์โดถูกสั่งจำคุกสองเดือนก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาเพราะขาดหลักฐาน
เลโอนาร์โดไม่เคยแต่งงาน  ไม่มีวี่แววว่าจะมีคนรัก  หลังผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว...
อีกหลายปีต่อมา  เขาได้รับอุปถัมภ์เด็กชายหน้าตาดีคนหนึ่ง  เด็กคนนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ อิล ซาไลโน ( Il Salaino - เจ้าวายร้ายน้อย)  และต่อมาของต่อมา  ในปี ค.ศ. 1506 เลโอนาร์โดได้พบ ฟรานเชสโก เมลซี (Francesco Melzi) ในวัย 15 ปี  โดยเมลซีได้บรรยายความรู้สึกของเลโอนาร์โดที่มีต่อตนเองไว้ว่า “เป็นความรักที่ดื่มด่ำและร้อนแรงอย่างยิ่ง”  หลังจากนั้น...เลโอนาร์โดและสองหนุ่มก็ได้ร่วมกันเดินทางไปทั่วอิตาลี

ย้อนกลับมาหลังเหตุการณ์โดนฟ้อง  เลโอนาร์โดลาออกจากโรงศิลปะของเวร์รอกชีโอ  กลายมาเป็นศิลปินเดี่ยว  เข้าใจว่าไส้แห้งเพราะไม่ค่อยจะทำงานสำเร็จ  แต่ก็ยังมีคนจ้างเพราะฝีมือดี
เลโอนาร์โดได้รับงานวาดภาพ "Adoration of the Magi" อันโด่งดังในช่วงนี้เอง  แต่ก็อย่างว่า  วาดเสร็จซะที่ไหน  ภาพนี้ยังวาดไม่เสร็จ  ยังไม่ได้เริ่มลงสี  มีแค่ภาพร่างสีน้ำตาล...ซึ่งกลายเป็นว่าโดดเด่นมีเอกลักษณ์เหลือเกินในยุคปัจจุบัน

(Adoration of the Magi)
ห้าปีต่อมา  เลโอนาร์โดย้ายออกจากฟลอเรนซ์ไปอยู่มิลาน  ว่ากันว่าเป็นเพราะเลโอนาร์โดเริ่มเบนความสนใจไปยังสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  แต่คิดเล่นขำ ๆ ได้ว่าอาจเป็นเพราะฟลอเรนซ์มีศิลปินฝีมือดีอยู่เยอะ  นอกจากศิลปินเหล่านั้นจะเก่งแล้ว...ยังทำงานเสร็จอีกต่างหาก!  เลโอนาร์โดที่ทำงานไม่ค่อยจะเสร็จเลยต้องอพยพหาแหล่งใหม่ตามระเบียบ...

ณ มิลาน  เลโอนาร์โดได้ทำงานให้กับผู้ทรงอำนาจเทียบเท่าตระกูลเมดิชีแห่งฟลอเรนซ์  ได้แก่ตระกูลสฟอร์ซา (Sforza) แห่งมิลาน  โดยสัญญาว่าจะสร้างรูปประติมากรรม ฟรานเชสโก สฟอร์ซา ขี่ม้า แบบยิ่งใหญ่อลังการ  แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่เขาได้ออกแบบเป็นส่วนใหญ่ได้แก่เครื่องจักรกลสงคราม  แถมเมื่อออกแบบเครื่องยนต์กลไกไปนาน ๆ เขาก็เริ่มเบนความสนใจไปที่คนในเมือง
เลโอนาร์โดมักจะสะกดรอยตามคนในเมืองที่เขาติดใจทั้งวันเพื่อสเกตซ์ภาพ...
ในช่วงนี้  เขาได้ร่างหนังสือทฤษฎีและเทคนิคการวาดภาพ
ต่อมา  เลโอนาร์โดได้ศึกษาเรื่องกายวิภาคอย่างจริงจัง  และนำความรู้ที่ได้ไปเทียบกับทฤษฎีโบราณของ วิทรูเวียส (Vitruvius) สถาปนิกยุคจักรวรรดิโรมัน  ซึ่งอธิบายโครงสร้างสัดส่วนมนุษย์ไว้อย่างละเอียด  โดยสรุปว่า  เมื่อคนยืนกางแขนกางขา  ก็จะลงพอดีในกรอบรูปวงกลมและจัตุรัส  เป็น homo ad circulum และ homo ad quaratum (คนในวงกลม – คนในจัตุรัส) จนกระทั่งสามารถสร้างภาพ Vitruvian Man อันลือลั่นได้สำเร็จ

(Vitruvian Man)
ในช่วงที่เลโอนาร์โดรับใช้สฟอร์ซา  เขาหมกมุ่นในเรื่องการบินมาก  เขาได้ร่างภาพสเกตซ์เกี่ยวกับการบินกว่า 500 ภาพ  และคำบรรยายประกอบภาพก็มีมากกว่า 4,000 คำ  เขาได้ลองออกแบบและพัฒนาเครื่องร่อน( The Wing Glider) แต่การทดลองบินทุกครั้งประสบความล้มเหลว  อย่างไรก็ดี  จินตนาการของเขากลายเป็นความจริงต่อมาในยุคปัจจุบัน 
(ภาพสเกตซ์ของดาวินชี)

(ภาพจากเกม Assassin's Creed II)
ในปี ค.ศ. 1494
ฝรั่งเศสยกทัพมาปิดล้อม...มิลานเกิดความระส่ำระสาย
โลหะที่เตรียมไว้หลอมประติมากรรม สฟอร์ซา ขี่ม้า (ที่กล่าวถึงเมื่อสี่ย่อหน้าก่อน...แหะ ๆ เผื่อลืม) ได้ถูกนำมาทำลูกปืนเสียหมด  แถมเมื่อกรุงแตกในปี ค.ศ. 1499  พลธนูฝรั่งเศสยังเอารูปปั้นม้าดินที่ทำไว้เป็นแบบรูปหลอมดังกล่าวมาเป็นเป้าซ้อมยิงจนชำรุดเสียหาย  สรุปแล้ว  แผนสร้างประติมากรรม สฟอร์ซา ขี่ม้า  อันอลังการก็เป็นอันจบเห่อยู่เท่านี้ 
 15 ปี หลังกรุงมิลานแตก  เลโอนาร์โด ดาวินชี ใช้ชีวิตระเหเร่ร่อนรับงานทั่วอิตาลี  จนกระทั่งกลับมาที่ฟลอเรนซ์  ในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มทำภาพระดับตำนานของตำนาน....โมนาลิซา (Mona Lisa)

และในช่วงนี้อีกนั่นแหละ  ที่เขาได้ปะฉะดะกับศิลปินเอกอีกคนหนึ่งในยุคเรอเนซองส์...มีเกลันเจโล (Michelangelo) ศิลปินผู้สร้างงานอย่าง
(Pieta สร้างโดย Michelangelo)

โดยสภาเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ได้เสนอให้ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองประชันฝีมือวาดภาพผนังขนาดยักษ์ในห้องโถงของสภา
มีเกลันเจโลเลือกศึกแห่งคาสชินา (Battle of Cascina)
เลโอนาร์โดเลือกศึกแห่งแองกีอารี (Battle of Anghiari)

ลีโอนาร์โดได้บรรยายองค์ประกอบภาพที่คิดไว้ในสมุดบันทึกแบบละเอียดยิบ...ยิบจริง ๆ ไม่ได้ล้อเล่น  พร้อมสเกตซ์ศึกษารายละเอียดประกอบภาพไว้เป็นจำนวนมาก  แต่อย่างที่น่าจะเดาได้...สุดท้าย...เสร็จซะที่ไหนกัน (อา...อีฟล่ะรักคุณสิงห์จัง 555+)
แบบว่า...เนื่องจากถูกมีเกลันเจโลสบประมาทไว้ว่าเป็นคนที่ “ได้แต่คิด  สร้างไม่เป็น”  คุณสิงห์แกเลยรีบลงสีภาพ  รีบทำ  แล้วหัวใสไง...เอาเตาถ่านคุไฟไปอังใต้ภาพหวังให้สีแห้ง  มันก็แห้งน่ะนะ  แห้งแต่ส่วนล่างภาพ  ส่วนบนสีเยิ้มลงมาเลอะเทอะเต็มไปหมด  สรุปว่าภาพพัง  ประกอบกับช่วงนั้นเครดิตคุณสิงห์แกไม่ค่อยดีเนื่องจากไปทำโปรเจ็คต์เปลี่ยนเส้นทางน้ำล่มไม่เป็นท่า  มาเรื่องนี้อีก  สุดท้าย  กรรมการสภาเลยหมดศรัทธา...

(Battle of Anghiari)
ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ตกต่ำมากในชีวิตของลีโอนาร์โด  เขาเขียนบันทึกเอาไว้ตอนหนึ่ง  ใจความว่า
“ความอดกลั้นต่อการดูถูกเหยียดหยามเป็นเสมือนเสื้อกันหนาว  อากาศยิ่งเย็นเท่าไร  เราก็ยิ่งต้องสวมใส่เสื้อผ้าเพื่อปกป้องตัวเองมากขึ้นเท่านั้น”

ค.ศ. 1513 เลโอนาร์โดย้ายไปรับงานวิศวกรรมกับคาร์ดินัล กีอูลีอาโน เดอ เมดีซี พี่ชายของโป๊บลีโอที่ 10 ณ กรุงโรม  โป๊บไม่ชอบหน้าเขานัก  เมื่อกีอูลีอาโนตายลง  เลโอนาร์โดจึงไม่สามารถอยู่ในโรมได้อีกต่อไป

เลโอนาร์โดออกจากโรมกลับไปยังฟลอเรนซ์และมิลานได้ไม่นาน  พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ก็สวรรคต  พระเจ้าฟรองซัวร์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์แทน  พระองค์มีพระประสงค์ที่จะอุปถัมภ์เลโอนาร์โดในฐานะปูชนียบุคคล  จึงเสนอรับเลโอนาร์โดมาอยู่ด้วย  ดังนั้นใน ค.ศ. 1516 เลโอนาร์โดและเมลซี  กับคนรับใช้อีกหนึ่งคน  จึงเดินทางไปยังฝรั่งเศส  พร้อมลักลอบนำภาพเขียนที่มีคนว่าจ้างไว้ติดตัวไปด้วยสามภาพ  อันได้แก่

เซนต์จอห์นเดอะแบปทิสต์ (St.John the Baptist)
...ว่ากันว่าภาพนี้คือภาพวาดสุดท้ายของเลโอนาร์โด...
พระแม่มารี เยซูน้อย กับเซนต์แอนน์ (Virgin and Child with St.Anne)
และภาพหญิงชาวฟลอเรนซ์นางหนึ่ง
...ซึ่งภายหลัง  ทั่วโลกรู้จักเธอในนาม โมนาลิซา (Mona Lisa)
ในวัยชรา  ถึงแม้ว่าจะได้มาอยู่สุขสบายกับพระเจ้าฟรองซัวร์ เอาเข้าจริงเลโอนาร์โดก็ไม่ได้ลงมือทำโครงการที่ใฝ่ฝัน  เขามีความคิดที่จะปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำโซโลน  ปลูกต้นไม้  และฟื้นฟูสภาพดินในท้องที่  แต่ชาวฝรั่งเศสไม่ค่อยให้ความสนใจกับโครงการเหล่านี้  พวกเขาชอบให้เลโอนาร์โดออกแบบปาร์ตี้  ประดิษฐ์ของเล่นหรูหรา...อะไรทำนองนั้น

เมื่อใกล้จะเสียชีวิต  แขนขวาของเลโอนาร์โดเป็นอัมพาต  เขาจึงเขียนพินัยกรรมและได้มอบสมุดบันทึกหลายเล่มให้อยู่ในความดูแลของ ฟรานเชสโก เมลซี  พร้อมกับถามว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้ออกแบบไว้นั้น  มีอะไรบ้างที่ถูกนำไปสร้าง?

อีก 9 วันต่อมา  คือ  วันที่ 2 พฤษภาคม 1519
เลโอนาร์โดสิ้นลมโดยมีภาพ โมนาลิซา ภาพที่เขารักยิ่งอยู่ใกล้ ๆ

ชีวิตของเลโอนาร์โดประสบความผิดหวังหลายครั้ง  เช่น  มีชื่อเสียงเรื่องการวาดภาพไม่เสร็จ  เขียนหนังสือไม่จบสักเล่ม  โครงการที่คิดไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง  ไม่ประสบผลสำเร็จในการทดลองสิ่งประดิษฐ์  ฯลฯ  แต่อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังก็มีมากมาย  ไม่เพียงแต่ด้านงานศิลปะ  แต่รวมถึงแนวคิดต่าง ๆ

สุดท้ายนี้ ขอยกคำพูดตอนหนึ่งในบันทึกของ เลโอนาร์โด ดาวินชี มาปิดท้าย
“While I thought that I was learning how to live, I have been learning how to die.”


*****************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น